ผลการจัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ประจำปีงบประมาณ 2559

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้กำหนดยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเข้มแข็งของสหกรณ์โดยใช้การจัด มาตรฐานสหกรณ์ เป็นกลไกหลักในการพัฒนาระบบสหกรณ์ เพื่อวัดความเป็นองค์กรของสมาชิกตามหลักการสหกรณ์ การปฏิบัติตามกฎหมาย และการบริหารจัดการภายในโดยเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาสหกรณ์ ด้วยตัวสมาชิกและสหกรณ์เองเป็นหลัก เน้นให้สหกรณ์มีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาตนเองให้ผ่านมาตรฐาน โดยได้กำหนดตัวชี้วัดระดับมาตรฐานสหกรณ์ที่พิจารณาจากผลการดำเนินงานและกระบวนการจัดการภายในของสหกรณ์ และกำหนดระดับมาตรฐานสหกรณ์ เป็นสี่ระดับ คือ

  • ระดับมาตรฐานดีเลิศ
  • ระดับมาตรฐานดีมาก
  • ระดับมาตรฐานดี
  • ไม่ผ่านมาตรฐาน

สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ได้มีหนังสือที่ กษ 1109/2780 ลงวันที่ 22 กันยายน 2559  แจ้งผลการจัดระดับมาตราฐานสหกรณ์ประจำปีงบประมาณ 2559 แล้ว ปรากฏว่า สหกรณ์ออมทรัพย์คณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล จำกัด  

  • ผ่านมาตรฐานระดับดีเลิศ

อนึ่งสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ได้มีหนังสือที่ กษ 1109/2688 ลงวันที่ 16 กันยายน 2559  แจ้งผลการประเมินการกำกับดูแลองค์กรตามหลักธรรมาภิบาลในสหกรณ์และการบริหารจัดการสหกรณ์ด้านการควบคุมภายในของสหกรณ์ ครั้งที่ 2/2559 ดังนี้

  • ผลการประเมินการกำกับดูแลองค์กรตามหลักธรรมาภิบาลในสหกรณ์ อยู่ในระดับดีมาก
  • ผลการประเมินการบริหารจัดการสหกรณ์ด้านการควบคุมภายในของสหกรณ์ ผลการประเมิน คือ ผ่าน

โครงการคัดเลือกผลงานนวัตกรรมการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ดีเด่นระดับภาคและระดับชาติ ประจำปี 2559

ชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์กรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ 1 (ชสก.1) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1  โดยการสนับสนุนจากชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด  จัดโครงการคัดเลือกผลงานนวัตกรรมการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ดีเด่นระดับภาค ประจำปี 2559  เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ระหว่างเวลา 08.30 – 12.00 น. ณ อาคารกองฝึกอบรมส่วนกลาง สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ถนนพิชัย แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  โดยมีวัตถุประสงค์

  • เพื่อเป็นการระดมความคิดกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมในขบวนการสหกรณ์
  • เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรของสหกรณ์สมาชิก ชสก.1 ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมโครงการมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสนอข้อคิดเห็นสำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์

สหกรณ์ออมทรัพย์คณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล จำกัด ส่งประกวดผลงานนวัตกรรมของ จำนวน 1 เรื่อง ชื่อผลงาน “โครงการสายใยครอบครัวผูกพัน ช่วยค้ำประกันเงินกู้ ” โดย รศ.ทพ.สุรินทร์ สูอำพัน เป็นผู้นำเสนอ

ผลการประกวด   สหกรณ์ออมทรัพย์คณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล จำกัด ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 

โดย รศ.ทพ.สุรินทร์ สูอำพัน ได้ไปนำเสนอผลงานนวัตกรรมการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2559  ในวันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2560  ณ ห้องประชุม 701 สำนักงานชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ถนนนครอินทร์ ตำบลบางสีทอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

ผลงานนวัตกรรม : โครงการ “ สายใยครอบครัวผูกพัน ช่วยค้ำประกันเงินกู้ ”

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์

สหกรณ์ออมทรัพย์คณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล จำกัด ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2537  ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 1,061 คน สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบด้วยบุคลากรของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร้อยละ 65 มีสถานะเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย การจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย สัญญาจ้างระยะแรกไม่น้อยกว่า 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี  สัญญาจ้างจะสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน  สัญญาจ้างครั้งต่อไปกำหนดไว้ 2 แบบ

  1. สัญญาจ้างจนครบเกษียณอายุงานสัญญา
  2. กำหนดตามที่ต้องการ โดยเฉลี่ยประมาณระยะการจ้างไม่เกิน 5 ปี

สหกรณ์ตระหนักถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากสมาชิกที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  ระยะการจ้างตามสัญญาแบบที่ 2  แต่ไม่ประสงค์จะใช้ระยะการจ้างเป็นตัวกำหนดระยะเวลาในการผ่อนชำระเงินกู้ เนื่องจาก

  • การผ่อนงวดชำระหนี้ระยะสั้นจะทำให้จำนวนเงินผ่อนชำระต่องวดเพิ่มขึ้น สมาชิกจะเหลือเงินเพื่อใช้จ่ายไม่เพียงพอ หรือ
  • หากลดวงเงินกู้สมาชิกอาจต้องไปหาแหล่งเงินกู้อื่น หรือเป็นหนี้นอกระบบดอกเบี้ยแพง ซึ่งในที่สุดจะย้อนมากระทบกับการผ่อนชำระหนี้สหกรณ์เอง

ในปี 2558 สหกรณ์จึงได้จัดทำ “โครงการสายใยครอบครัวผูกพัน ช่วยค้ำประกันเงินกู้” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. เพื่อลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของสมาชิกลูกหนี้
  2. เพื่อลดความเสี่ยงจากการมีหนี้สูญ 

กระบวนการพัฒนาผลงาน

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 11 ค้ำประกัน หมวด 1

มาตรา 680    อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอก** คนหนึ่ง เรียกว่า  ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 682    ท่านว่า….. ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ท่านว่า ผู้ค้ำประกันเหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่าจะมิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน

** บุคคลภายนอกตามมาตรา 680 หมายถึง บุคคลที่มิได้เป็นคู่กรณีหรือคู่สัญญา แต่อาจมีสิทธิเกี่ยวข้อง (ไทย-ไทย: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542)

จึงสรุปได้ว่า บุคคลที่มิได้เป็นคู่กรณีหรือคู่สัญญา สามารถลงนามเป็นหนังสือค้ำประกันได้  บุคคลในครอบครัวที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีหรือคู่สัญญาจึงลงนามเป็นผู้ค้ำประกันได้ และมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน

จากเว็บไซด์ลานธรรมจักร  www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12096  กล่าวถึงพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคนเรา คือ “พลังครอบครัว”   ความรักความเข้าใจ คือสายใยของครอบครัว

ในปี 2558 โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ครั้งที่ 1/2558 วันที่ 29 มกราคม 2558  สหกรณ์ได้จัดทำ “โครงการสายใยครอบครัวผูกพัน ช่วยค้ำประกันเงินกู้” โดยแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบเงินกู้สามัญ ให้บุคคลในครอบครัวของสมาชิกผู้กู้ที่มีระยะการจ้างสั้นกว่าระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ เป็นผู้ค้ำประกันเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้ค้ำประกันตามระเบียบเงินกู้

ผลการดำเนินการโครงการฯ ในช่วงปี 2558 ถึง เดือนตุลาคม 2559 จำนวนสมาชิกที่เข้าโครงการฯ ยินยอมให้บุคคลในครอบครัวค้ำประกันเพิ่มเติม จำนวน 284 ราย

ตารางที่ 1. แสดงผลการดำเนินโครงการฯ และสมาชิกผิดนัดชำระหนี้

ช่วงปี พ.ศ. สมาชิกที่กู้ (ราย) สมาชิกเข้าโครงการฯ  (ราย) สมาชิกผิดนัดชำระหนี้
นอกโครงการฯ ในโครงการฯ
2556 -57 760 21
2558 -59 733 284 6 2
รวม 27 2

 

ตารางที่ 2. แสดงความเกี่ยวข้องของครอบครัวกับสมาชิกผิดนัดชำระหนี้  ปี 2556 – 2559

สมาชิกผิดนัดชำระหนี้ (ราย) ฟ้องศาลคดีแพ่ง 29 ราย
ประนอมหนี้ ประนอมหนี้ ครอบครัวค้ำประกัน สมาชิกและครอบครัว

ประนอมหนี้

รอ

บังคับคดี

29 13 7 2* 7

 

สหกรณ์ได้ฟ้องคดีสมาชิกที่ผิดนัดชำระหนี้ 2* ราย ที่มีบิดามารดาเป็นผู้ค้ำประกัน สมาชิกและบิดามารดาได้ยินยอมทำสัญญาประนีนอมยอมความและค้ำประกันต่อหน้าศาล เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ โดยศาลกำหนดให้บังคับคดีหากเพิกเฉยทั้งสมาชิกผู้กู้และบิดามารดาผู้ค้ำประกัน (ศาลจังหวัดศรีสะเกษ คดีหมายเลขดำ ที่ ผบ. 4/2558 และศาลจังหวัดสุพรรณบุรี คดีหมายเลขดำ ที่ ผบ. 798/2559)

ความสำเร็จของผลงานนวัตกรรม

ข้อมูลจากตารางที่ 1 ในช่วงปี 2558- 2559 หลังจากจัดโครงการฯ จำนวนสมาชิกที่ผิดนัดชำระหนี้ลดลงกว่าครึ่ง ของในช่วงปี 2556 – 2557  อย่างไรก็ตามเหตุของการผิดนัดชำระหนี้มีหลากหลาย ซึ่งจะต้องศึกษาติดตามผลในระยะยาวต่อไป

ความสำเร็จของผลงานในระยะต้นโครงการฯ ได้แก่ การได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากสมาชิกผู้กู้และบิดามารดาผู้ค้ำประกัน ในทางกลับกันสมาชิกผู้กู้ที่มีบุตรบรรลุนิติภาวะ มีการทำงานเป็นหลักแหล่ง ให้มาช่วยค้ำประกันบิดามารดาอีกด้วย

ในช่วงสองปีที่จัดโครงการฯจำนวนสมาชิกที่เข้าโครงการฯ จำนวน 284 ราย จากสมาชิกที่กู้จำนวน 733 ราย คิดเป็นร้อยละ 38.7

จากการตอบแบบสอบถามของสมาชิกที่เข้าโครงการฯ จำนวน 250 คน ร้อยละ 97.2  เห็นด้วยกับโครงการฯ และ ร้อยละ 89.2 คาดหวังสมาชิกในกลุ่มผู้ค้ำประกันจะไม่ผิดนัดชำระหนี้

การนำผลงานนวัตกรรมไปใช้แล้วเกิดประโยชน์ต่อสมาชิก สหกรณ์อื่น

  1. สมาชิกเข้าถึงการบริการเงินกู้ได้อย่างทัดเทียมกัน โดยไม่ขึ้นกับสัญญาจ้าง
  2. ความคาดหวังของสมาชิกในกลุ่มผู้ค้ำประกันว่าสมาชิกในกลุ่มจะไม่ผิดนัดชำระหนี้
  3. สมาชิกผู้กู้สูงวัยที่มีหนี้พอกพูน ให้บุตรที่บรรลุนิติภาวะ มีการทำงานเป็นหลักแหล่ง มาช่วยค้ำประกันบิดามารดา ช่วยลดความเสี่ยงจากการมีหนี้สูญ (ปรับโครงสร้างหนี้)
  4. เป็นประโยชน์กับสหกรณ์อื่นที่มีสมาชิกระยะการจ้างสั้นกว่าระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ รวมทั้งกรณีปรับโครงสร้างหนี้
  5. สมาชิกที่กู้เงินยินยอมให้บุคคลในครอบครัวร่วมค้ำประกัน เป็นรูปแบบครอบครัวร่วมด้วยช่วยกันดูแลการใช้จ่ายอย่างประหยัด ตักเตือนการใช้เงินกู้ให้เกิดประโยชน์หรือสร้างรายได้เพิ่ม ช่วยเยียวยาปัญหาหนี้สิน ร่วมกันนำพาสมาชิกและครอบครัวให้หมดหนี้ นำไปสู่อนาคตที่มีความสมบูรณ์พูนสุขอย่างพอเพียง

เอกสารอ้างอิง 

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 11 ค้ำประกัน หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป มาตรา 680 และ 682
  2. เว็บไซด์ลานธรรมจักร www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=12096
  3. ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์คณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล จำกัด   ว่าด้วยการให้เงินกู้  พ.ศ. 2551หมวด 3  เงินกู้สามัญ  แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558
  4. สัญญาประนีนอมยอมความ ทำขึ้น ณ ศาลจังหวัดศรีสะเกษ คดีหมายเลขดำ ที่ ผบ. 4/2558 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558
  5. สัญญาประนีนอมยอมความ ทำขึ้น ณ ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี คดีหมายเลขดำ ที่ ผบ. 798/2559 วันที่ 30 สิงหาคม 2559